ศูนย์ฝึกโนราเยาวชนโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 23 (วัดโคกโหนด) จังหวัดพัทลุง

นางสาวอรนุช วงค์สวัสดิ์โสต

ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 23 (วัดโคกโหนด)

นางนิศารักษ์ กำจัดภัย

หัวหน้าศูนย์ฝึกโนราเยาวชนโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 23 (วัดโคกโหนด)

สถานที่ตั้ง

37 หมู่ที่ 2 บ้านไสรักษ์ อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง 93130 โทรศัพท์ 074-608064 อีเมล์: thairat_23@hotmail.com

ประวัติความเป็นมา

โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 23 (วัดโคกโหนด) เดิมชื่อ โรงเรียนวัดโคกโหนด เป็นโรงเรียนที่เปิดสอนในระดับชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาขนาดเล็ก สังกัด สํานักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพัทลุง สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2501 โดยมีพระชิตกวิวงโส รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดโคกโหนด เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง โดยมีนายคลิ้ง ทองเอม รักษาการในตำแหน่งครูใหญ่เป็นคนแรก โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 23 (วัดโคกโหนด) อยู่รายรอบชุมชนมีความเชื่อและผูกพันกับการแสดงโนรามาอย่างยาวนาน โดยในชุมชนจะมีการถ่ายทอดพิธีกรรมและความเชื่อเกี่ยวกับโนราให้กับบุตรหลานของตัวเอง นักเรียนของโรงเรียนซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุตรหลานของคนในพื้นที่จึงมีทักษะและเชื้อสายของโนรา จึงมีการสอนโนราในโรงเรียน ได้รับความสนใจจากนักเรียน และผู้ปกครองก็ให้การสนับสนุน โดยโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 23 (วัดโคกโหนด) เริ่มสอนโนราใน ในปี พ.ศ. 2535 โดยครูนิศารักษ์ กำจัดภัย ย้ายมาสอนที่โรงเรียนและเริ่มมีกิจกรรมเสริมทักษะให้กับนักเรียนและเริ่มมีการสอนโนราและพัฒนากลายมาเป็นชมรมโนราจนถึงปัจจุบัน โดยมีศิษย์เก่าของโรงเรียนที่เป็นเชื้อสายของโนราเข้ามาช่วยสอน

นโยบายของโรงเรียนในการสนับสนุนการแสดงโนรามีปรากฏอย่างชัดเจน โดยสนับสนุนให้นักเรียนซึ่งเป็นลูกหลายของคนในชุมชนได้มีทักษะในการแสดงโนรา และมีทักษะอื่น ๆ เช่น การเล่นดนตรีโนรา การร้อยลูกปัดโนรา เพราะนักเรียนสามารถใช้ทักษะเหล่านี้สร้างรายได้ให้กับตัวเอง และครอบครัว โดยมีโรงเรียนเป็นสถานที่ในการฝึกร้อง ฝึกรำ และเล่นดนตรี รวมถึงการออกแบบสินค้าที่มาจากการร้อยลูกปัดโนรา

รูปแบบและวิธีการฝึกสอนโนรา เป็นรูปแบบการฝึกโนราแบบดั้งเดิมของท้องถิ่น และชุมชนในจังหวัดพัทลุง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นแหล่งกำเนิดของโนราในภาคใต้ โดยรูปแบบการสอนโนราของโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 23 (วัดโคกโหนด) แบ่งการสอนออกเป็นสามรูปแบบ ตามช่างอายุของผู้เรียน ประกอบด้วย ช่างอนุบาลจะเน้นการฝึกพัฒนาการทางร่างกายโดยใช้ท่าโนรา 12 ท่ามาออกแบบเป็นท่าทางในการประกอบเพลง เพื่อให้นักเรียนระดับชั้นอนุบาลฝึกทักษะการจำและการเคลื่อนไหวร่างกาย ส่วนระดับชั้นประถมตอนต้น เน้นการฝึกท่าพื้นฐาน 12 ท่า ประกอบจังหวะของเครื่องดนตรี ส่วนระดับประถมปลาย จะผ่านการฝึกท่าพื้นฐานมาแล้วก็จะเป็นการแสดงเป็นกลุ่มหรือคณะ รูปแบบการสอนไม่มีการบันทึกหรือทำเป็นหลักสูตร แต่เน้นการบอกเล่าจากประสบการณ์ตรงของผู้สอน

การถ่ายทอดความเชื่อและพิธีกรรมของโนราของโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 23 (วัดโคกโหนด) เป็นรูปแบบของการแสดงความเคารพต่อครูผู้สอนก่อนฝึกโนรา ซึ่งทำเป็นประจำทุกครั้งก่อนการฝึก แต่จะไม่มีการไหว้ครูประจำปี แต่นักเรียนก็จะได้รับการถ่ายทอดผ่านชุมชนเนื่องจากรายรอบโรงเรียนเป็นชุมชนที่มีการประกอบพิธีกรรมและความเชื่อเกี่ยวกับโนรามา

นักเรียนที่เป็นสมาชิกชมรมโนราของโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 23 (วัดโคกโหนด) มองศิลปะการแสดงโนราเป็นสิ่งที่คุ้นเคยมาเป็นอย่างดี เพราะเห็นจากพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และมองว่าตัวเองก็ต้องฝึกทักษะนี้ไว้เพราะสามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเองและครอบครัว นอกจากไปแสดงกับโรงเรียนแล้ว สามารถร่วมแสดงกับคณะโนราอาชีพได้ เช่น นักแสดง นักดนตรี เป็นต้น